Thursday, May 30, 2019


  • ถ้าไม่เคยสูบบุหรี่ คุณจะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดหรือไม่?
  • นอกจากการไอ สัญญาณเตือนเบื้องต้นที่บ่งบอกว่าคุณมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดมีอะไรบ้าง?
  • เมื่อถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอด โรคนี้สามารถรักษาหายได้หรือไม่?
  • มะเร็งปอดแบ่งเป็นกี่ระยะ และคีโม คือ ทางรักษาเดียวของโรคนี้หรือไม่?



หากคุณสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ถูกต้อง สิ่งนี้สามารถบ่งบอกได้ว่าคุณมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดเป็นอย่างดี แต่หากคุณยังไม่สามารถตอบได้หรือตอบได้ไม่หมด นี่จะเป็นบทความที่ทำให้คุณรู้จักโรคมะเร็งปอด ภัยร้ายใกล้ตัวคุณและคนที่คุณรักได้ดียิ่งขึ้น


คนส่วนมากมีความเข้าใจว่า ผู้ที่จะเป็นโรคมะเร็งปอดได้นั้นต้องเป็นผู้สูบบุหรี่หรือผู้สูดดมควันที่เป็นมลพิษมาเป็นระยะเวลายาวนานเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วยังมีอีกหลายสาเหตุที่คุณไม่คาดคิดซึ่งสามารถนำไปสู่การเป็นโรคมะเร็งปอดได้ เช่น การสูดดมควันจากการทำอาหาร ควันที่มาจากธูปหรือเทียน และการเกิดยีนกลายพันธุ์ขึ้นในร่างกาย


หลังจากทำความรู้จักกับสาเหตุของการเป็นโรคมะเร็งปอดแล้ว สิ่งต่อมาที่คุณควรทำ คือ การหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเองและคนรอบข้าง การไอถือเป็นสัญญาณเตือนหนึ่งที่คนทั่วไปรับรู้กันดีว่าผู้ที่มีอาการไออาจจะมีปัญหาสุขภาพบางอย่างเกิดขึ้นที่ปอด แต่สำหรับโรคมะเร็งปอดนั้นจำเป็นต้องสังเกตอาการ

อื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตนร่วมด้วยโดยหากคุณมีอาการไอเรื้อรัง ไอปนเลือด น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ เหนื่อยง่าย เสียงแหบ หากคุณมีอาการเหล่านี้แสดงว่า ถึงเวลาแล้วที่คุณต้องไปหาหมอเพื่อตรวจเช็คให้แน่ใจว่ามีเนื้อร้ายอยู่ในปอดของคุณหรือไม่เพื่อทำการรักษาให้ทันท่วงที เนื่องจากโรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่ยิ่งรู้ไว รักษาเร็ว คุณจะมีโอกาสหายได้มากขึ้นหากถูกวินิฉัยว่าเป็นเพียงในระยะที่หนึ่งหรือสอง



การวินิฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอดหรือไม่ ต้องใช้วิธีการเอกซเรย์ที่ปอด หรือส่องกล้องเข้าไปดูในหลอดลมแล้วพบว่ามีก้อนอยู่ จากนั้นจึงตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจเพื่อดูผลว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ และอีกวิธี คือ การตรวจวินิฉัยด้วยรังสีโดยโรคมะเร็งปอดสามารถแบ่งความรุนแรงของโรคออกเป็น 4 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะจะมีการรักษาที่แตกต่างกันไปตามสาเหตุและความรุนแรงของอาการ


ระยะที่ 1 นั้นเป็นระยะที่จะพบว่ามีก้อนบางอย่างอยู่ในปอดซึ่งในระยะนี้ โรคมะเร็งปอดมักจะไม่มีการแสดงอาการความผิดปกติของร่างกายออกมา

ระยะที่ 2 นั้นเป็นระยะที่มะเร็งมีการแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด โดยในระยะที่ 1 และ 2 เป็นระยะที่สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดนำก้อนเนื้อออกจากร่างกาย

ระยะที่ 3 นั้นเป็นระยะที่พบมะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองและในช่องอก ซึ่งในการรักษาอาจใช้วิธีการผ่าตัด หรือ ฉายรังสี เพื่อให้เซลล์มะเร็งมีขนาดเล็กลงและหากทำได้แล้วจึงค่อยผ่าตัดออกจากร่างกาย

ระยะที่ 4 นั้นเป็นระยะที่มะเร็งได้กระจายตัวไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น สมอง ตับ กระดูก และต่อมหมวกไต เป็นต้น


ในปัจจุบันผู้ที่ถูกวินิฉัยว่าเป็นผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 4 มีโอกาสที่จะรักษาอาการของโรคได้ตรงจุดมากขึ้นและสามารถใช้ชีวิตอยู่กับโรคมะเร็งปอดได้อย่างดีขึ้น เนื่องจากสามารถนำชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อวิเคราะห์ความรุนแรงของโรคและสาเหตุของการเกิดโรคได้โดยการรักษาโรคมะเร็งปอดระยะที่ 4 นั้นมีหลากหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) ซึ่งจะใช้ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีโปรตีนบางชนิดทำงานผิดปกติบนผิวของมะเร็ง และการรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapies) หากแพทย์ตรวจพบว่าชิ้นเนื้อร้ายมีสาเหตุมาจากยีนกลายพันธุ์ เป็นต้น

ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องหันมาให้ความสำคัญกับโรคมะเร็งปอด เนื่องจาก โรคมะเร็งปอดถือเป็นโรคที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในเพศชายและพบมากสุดเป็นอันดับ 5 ในเพศหญิง ซึ่งเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย ดังนั้น หากคุณสังเกตพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการเข้าข่ายการเป็นโรคมะเร็งปอด อย่ารีรอที่จะไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้นเพื่อการรักษาที่ทันท่วงทีและให้คุณได้ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข

###

อ้างอิงข้อมูลจาก

นพ.ธัช อธิวิทวัส หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

สนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลโดย
บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จํากัด

Post a Comment: